ออกจากอุทยานประวัติศาสตร์ชั้นใน ก็มาสู่อุทยานฯชั้นนอก ซึ่งอยู่ห่างกันไม่มากนักประมาณ 5 กม. ถ้าเดินคงเหนื่อยน่าดู นักท่องเที่ยวหลายคนขับจักรยานไปนะ แต่สำหรับเราต้องเพิ่งรถแล้ว (ไม่มีรถรางนำเที่ยวอุทยานฯชั้นนอก ต้องใช้รถส่วนตัวค่ะ) ไฮไลท์ของอุทยานฯชั้นนอกนี้ คือวัดศรีชุม (ที่ว่าไฮไลท์เพราะเราชอบที่สุดค่ะ) วัดนี้ ดูสงบ ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ คนสร้างก็เก่งมากเพราะเราสามารถมองเห็นองค์พระได้เต็มตัวตั้งแต่ทางเข้าเลย ทั้งที่ช่องประตูเล็กกว่าองค์พระมาก น่าทึ่งจริงๆ
วัดศรีชุมเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอจนะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ในหลวงของเรายังเคยเสด็จฯขึ้นไปเลย ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้แล้วบนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายเรื่องชาดกต่าง ๆ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ แต่ปัจจุบันไม่ให้ขึ้นแล้วเนื่องจากคนนี่แหละ ไม่มีวินัยชอบขีดเขียนทำลาย แต่สามารถดูภาพจำลองได้ที่พิพิธภัณฑ์ค่ะ
มือของพระอัจนะสวยงามมากๆ
หลายคนคงเคยได้ยินตำนานเรื่อง "พระพูดได้" ก็พระอจนะองค์นี้ค่ะ เนื่องด้วยผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงจึงใช้วิธีนี้ในการปลุกปลอบใจทหาร
นอกจากนี้วัดแห่งนี้ก็ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ใช้สำหรับเป็นเส้นทางลี้ภัยของราชวงศ์ด้วย เส้นทางนั้นสามารถเดินทางไปถึงเมืองเชียงใหม่ได้เลย โดยทางเข้าจะอยู่ใกล้กับทางขึ้นองค์พระ(แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่านะ)
ถัดมาก็วัดพระพายหลวง สมัยก่อนวัดนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานที่ เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน และวัดแห่งนี้เป็นวัดเดียวในเขตอุทยานฯที่ยังมีพระจำพรรษาอยู่ค่ะ
วัดสะพานหิน วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร บริเวณทางเดินขึ้นโบราณสถานมีทางเดินปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขาขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ทีเดียวเพราะในศิลาจารึกบอกว่า พ่อขุนรามฯเสด็จมาทำบุญที่วัดนี้ เมื่อพระองค์เดินทางมาถึงวัดนี้ท้ายขบวนยังอยู่ที่ประตูเมืองเลย เมื่อมองจากด้านบนของวัดก็จะสามารถมองเห็นเมืองสุโขทัยได้ (แต่เสียดายวัดนี้เป็นที่รู้จักและโด่งดังมากจากการที่ชาวญี่ปุ่นถูกฆ่าตายที่วัดแห่งนี้ในช่วงงานลอยกระทง)
ก่อนออกจากตัวเมืองเราก็ควรไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองของที่นี่ก่อนคือ พระแม่ย่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมด้านหลังศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ชาวสุโขทัยนับถือพระแม่ย่ามาก สันนิษฐานกันว่า พระแม่ย่าคือแม่ของพ่อขุนรามคำแหงค่ะ
วัดเจดีย์เจ็ดแถว มีความสวยงามมากกว่าวัดอื่นในเมืองสุโขทัย เพราะมีเจดีย์แบบต่างๆ กันมากมายเป็นศิลปะสุโขทัยแท้ก็มี เป็นศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัยก็มี เรานับยังงัยก็ไม่ได้เจ็ดแถวซะที ผู้รู้บอกว่า ที่เรียกเจ็ดแถวนั้นมาจาก เจดีย์มีหลายแถวก็เลยเรียกว่าเจ็ดแถว ก็ง่ายดีเนอะ

เดี๋ยวต้องหาโอกาสไปบ้างแล้ว สวยจัง..เปรี้ยวชอบของเก่าๆ มันดูขลังดี:)
ตอบลบคุณเปรี้ยว ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ
ตอบลบหลวงพี่เคยไปเที่ยวชมบ่อยครั้ง ถ้ามีโอกาสครั้งหน้าหลวงพี่กลับสุโขทัย หลวงพี่พักอยู่วัดคูหาสุวรรณ น่าจะได้พบกันนะ
ตอบลบ